image

อินทรวิหาร

เกี่ยวกับวัด

 

ประวัติ

วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง   สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง แต่เดิมชื่อ "วัดไร่พริก" เนื่องจากเป็นวัดที่ปลูกอยู่ใกล้สวนผักของชาวจีน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดบางขุนพรหม" ตามชื่อของหมู่บ้านซึ่งมีขุนพรหมเป็นหัวหน้า กาลเวลาผ่านมาถึงสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าสิริบุญสารผู้ครองนครศรีสัตนาคนหุต ได้ยกกองทัพมาถึงบ้านดอนมดแกง (จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน) ได้จับพระลอ ผู้ซึ่งสวามิภักดิ์ในพระบรมโพธิสมภาพของพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อจับแล้วก็ได้ทำการประหารพระลอ  เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบ  ก็โปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพพร้อมด้วยพระสุรสีห์ยกทัพขึ้นไปปราบทัพของพระเจ้าสิริบุญและสามารถตีเมืองเวียงจันทน์แตก  ครั้งเสร็จจากศึกสงครามสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้นำตัวเจ้าอินทวงศ์ ซึ่งเป็นโอรสในพระเจ้าสิริบุญสารกลับมากรุงธนบุรีด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทวงศ์และคณะพำนักอยู่ ณ บริเวณตำบลไร่พริก (แขวงบางขุนพรหม ในปัจจุบัน)

 

 

ต่อมาเจ้าอินทวงศ์ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอินทรแห่งนี้ เปลี่ยนรูปแบบอุโบสถจากเดิมที่เป็นแบบเตาเผาปูนมาเป็นก่ออิฐถือปูนซึ่งเป็นแบบที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ และสร้างศาลาต่างๆพร้อมกับขุดคลองเหนือใต้และด้านหลังวัด  เมื่อบูรณะจนสมบูรณ์ดีแล้วได้อาราธนาท่านเจ้าคุณอรัญญิกเถร (ด้วง)มาเป็นเจ้าอาวาส และถือเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกที่มีหลักฐานปรากฏยืนยัน 

ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)  โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนผ่านกลางวัดบางขุนพรหม วัดบางขุนพรหม จึงกลายเป็น 2 วัดคือวัดบางขุนพรหมนอก (วัดใหม่อมตรส   ในปัจจุบัน) และวัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง  ในปัจจุบัน) เนื่องจากอยู่ภายในเขตวังเทวะเวสม์ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ (จึงเรียกชื่อว่า "วัดบางขุนพรหมใน") 

 

 

การเรียกชื่อวัด

ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นนิยมเรียกกันว่า "วัดไร่พริก" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "วัดบางขุนพรหม" และเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดอินทร์" หรือ "วัดอินทาราม" ตามนามของผู้ปฏิสังขรณ์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 6) ได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์เปลี่ยนนามวัด เนื่องจากชื่อเดิมไปพ้องกับวัดอินทราม (ใต้) บางยี่เรือใต้ (ธนบุรี) ซึ่งสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นภวงศ์)ได้ถวายพระนามใหม่ว่า "วัดอินทรวิหาร" และยังคงใช้ชื่อนี้ตราบกระทั่งปัจจุบัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะจากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2543 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2543 ดังนั้นจึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง"

 

 

หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร

หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร (พระพุทธศรีอริยเมตไตรย)  พระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร  มีความสูง สูง 32 เมตร สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ในปี พ.ศ. 2410 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จท่านก็ได้มรณภาพไป การก่อสร้างจึงหยุดลงชั่วคราว  และได้มีการก่อสร้างต่อจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2467 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้จัดให้มีงานสมโภชเป็นครั้งแรกเป็นเวลาสามวัน คือวันที่ 4-6 มีนาคม พ.ศ.2471  

 


หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร เป็นพระพุทธรูปที่สูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร ทางวัดได้จัดงานบูชาหลวงพ่อโต ระหว่างวันที่ 1 - 7 เมษายนเป็นประจำทุกปี

 

ข้อมูลทั่วไป

  • ชื่อ: วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง
  • ฐานะ: พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ
  • ที่ตั้งปัจจุบัน: เลขที่ 144 ถนนวิสุทธิกษัตริย์ แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร 
  • กรุงเทพมหานคร 10200
  • เบอร์โทร:  02-628-5550-2, 0-2282-0461, 0-2282-3094    
  • โทรสาร: โทรสาร 02-282-8429
  • เนื้อที่: จำนวน 21 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา
  • ขอบเขต: ทิศเหนือ ติดถนนกรุงเกษม
  • ทิศใต้ ติดถนนวิสุทธิกษัตริย์

 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image